วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โพรงเทียมนกเงือกต้นแบบงานดีไซน์เพื่อการอนุรักษ์





การออกแบบและจัดสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก โดย อาจารย์ชาคร ผาสุวรรณ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) กรุงเทพฯ คือ งานวิจัยเชิงประยุกต์ที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบโพรงเทียม ขั้นตอน และวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่


อาจารย์ชาครบอกว่า 9 ปีที่แล้ว โพรงเทียมนกเงือกติดตั้งที่อุทยานฯ บูโด จำนวน 20 โพรงเทียม ในปัจจุบันพบว่านกเงือกเข้ามาดู 15 โพรงรัง มีนกกก และนกเงือกหัวแรดใช้ทำรัง 6 โพรงเทียม นกกกประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์เพียง 5 โพรงเทียม และได้ลูกนกกกจากโพรงเทียม 16 ตัว


"เพราะต้นไม้ใหญ่โดนตัด นกเงือกจึงไร้โพรงรัง เราจึงออกแบบสร้างโพรงเทียมขึ้นมาทดแทน ซึ่งนกมีแนวโน้มมาใช้โพรงเทียมมากขึ้น แต่โครงการนี้ต้องทำงานระยะยาวต่อเนื่องจึงจะสรุปผลวิจัยได้ชัด อาจต้องใช้เวลาชั่วทั้งชีวิตของนักวิจัยเลยก็ได้ ปลื้มใจที่ได้นำความรู้ในตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ช่วยเหลือนกหลายครอบครัวที่ใช้โพรงเทียมของผมเป็นบ้าน ทุกครั้งที่ส่องกล้องเข้าในโพรง ได้สบตากับนกเงือก รู้สึกเหมือนนกกำลังบอกขอบคุณ" นักออกแบบหัวใจอนุรักษ์เผยความรู้สึกจากใจ


สำหรับโพรงเทียมในการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบที่ต้องพัฒนาต่อไป สร้างขึ้นจากไฟเบอร์กลาส โดยใช้ฉนวนกันความร้อนโพลียูรีเทนโฟม ปากโพรงทำจากไม้จริงเพื่อลดน้ำหนัก โพรงเทียม 1 โพรงมีส่วนประกอบ 6 ชิ้น แต่ละชิ้นสามารถขนส่งในป่า โดยการแบกสะพายหลัง น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม การติดตั้งโพรงเทียมที่เหมาะสมที่สุด ทำโดยแขวนกับกิ่งไม้ใหญ่ หรือใต้ง่ามไม้ และรัดแนบกับลำต้นด้วยลวดสลิง ปัจจุบันมีโพรงเทียมจำนวน 18 โพรง ถูกติดตั้งที่อุทยานฯ บูโด.

ที่มา http://www.ryt9.com/s/tpd/1347262

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น