วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก


ความสำคัญและความน่าสนใจของนกเงือก

นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณ ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปี จัดอยู่ในวงศ์ Bucerotidae มีอยู่ด้วยกัน 52 ชนิดในโลก ซึ่งไม่นับรวม Ground Hornbill 2 ชนิดของแอฟริกา พบได้ในป่า และทุ่งหญ้าเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น

ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่ นกกก (Great Hornbill) นกเงือก กรามช้าง (Wreathed Hornbilll) นก แก๊ก (Oriental Pied Hornbill) นกเงือก สีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill) นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) นกชนหิน (Helmeted Hornbill) นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) นกเงือกปากดำ (Black Hornbill) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) และนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จึงถูกจัดให้เป็น Flagship species Keystone species และ Umbrella species ของป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกเงือกมีบทบาทเด่นในระบบนิเวศป่าและหลายชนิดอยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ นกเงือกเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ (Seed disperser) ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 ซม ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู เป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจัดนกเงือกเป็น Indicator species ของป่าแต่ละแบบได้อีกด้วย หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป จากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก

ลักษณะเด่นของนกเงือก
                                                                   
นกเงือกมีลักษณะที่สำคัญ คือ มีปากขนาดใหญ่โค้ง มี โหนก (Casque) ประดับเหนือปาก ยกเว้นนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) ที่ไม่มีโหนก ลักษณะของโหนกเป็น โพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอยู่ภายใน แต่โหนกของนกชนหิน (Helmeted Hornbill) นั้นกว่าครึ่งความยาวของโหนกตันดุจ เดียวกับงาช้าง โหนกของนกเงือกมีขนาดและรูปร่างหลากหลาย บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบน กว้าง ดัง โหนกของนกกก บ้างก็มีรูป ทรงกระบอก ทอดนอนตามความยาวของจงอยปาก มีปลายงอนดู คล้ายกับนอของแรด ดังโหนกของนกเงือกหัวแรด อันเป็นที่มาของชื่อ Hornbill บางชนิดมีโหนกขนาดเล็ก เป็นลอนดูคล้ายฟันกราม ของช้าง เช่น โหนกของนกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill) นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ เช่น นกกก นกเงือกกรามช้าง เพราะด้านใต้ปีกของนกเงือกไม่มีขนปกคลุม (Under wing coverts) เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งอากาศจะผ่านช่องว่างโคนขนปีกจึงเกิดเสียงดัง

การทำรัง

นกเงือกจับคู่แบบ ผัวเดียวเมียเดียว ฤดูทำรังของนกเงือก เริ่มต้นช่วงฤดูแล้ง ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ระยะนี้นกเงือก จะแยก จากฝูง มาหากินบริเวณโพรงรังเก่าเพื่อปกป้องรังและพื้นที่ทำรัง รังของนกเงือก คือ โพรงไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยในต้นไม้วงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) มากที่สุด ขนาดของ ต้นไม้ที่มีโพรงใหญ่พอที่นก เงือกจะทำรังได้นั้นมีเส้นรอบวงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ในเมื่อนกเงือกไม่ สามารถเจาะโพรงรังเองได้เหมือนนกหัวขวาน จึงต้องหาโพรงไม้ใน ธรรมชาติที่เหมาะสมแคบๆ เพียงพอที่นกเงือกตัวผู้จะส่งอาหารให้แก่นกเงือกตัวเมียซึ่งจะออกไข่ กกไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้ จึงกะเทาะวัสดุที่ปิดปากโพรงออกมา

นกเงือกเป็นนกที่สะอาด ทั้งแม่และลูกนกจะถ่ายมูลผ่านปากโพรง เมื่อพ่อนกป้อนอาหารเสร็จในแต่ละครั้งก็จะดูแลทำความสะอาดบริเวณปากโพรง ส่วนอาหารที่เป็นผลไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ นกเงือกจะสำรอกทิ้งออกมาภายนอกโพรง ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของนกเงือกคือ สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก อาทิเช่น หมาไม้ ซึ่งจะสามารถไต่ขึ้นไปถึงรังนกเงือกได้

การรวมฝูง

เมื่อฤดูทำรังสิ้นสุดลงและลูกนกเงือกบินได้เก่งแล้ว ในช่วงฤดูฝน นกเงือกมักจะพากันมารวมฝูงกันหากินรวมกลุ่มขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างแล้วแต่ชนิดของนกเงือก และรวมฝูงนอนตามหุบเขาลึก อีกทั้งนกรุ่นลูกมีโอกาสจับคู่กับนกเงือกที่มาจากแหล่งอื่น ช่วยให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้น

ภาระของนกเงือกต่อสังคมป่า

ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตดังกล่าวมาแล้ว และความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น ถ้าป่าไหนมีนกเงือกอยู่ถึง 500 ตัว ป่าเหล่านั้นจะไม่เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

ที่มา http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/research/thai_hornbill.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น