วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นกเงือก thailand



ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=V4zf1K3deL4

สภาพอากาศแปรปรวนภัยคุกคามนกเงือกไทย


สภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติเกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกนกเงือกลืมตาขึ้นมาดูโลกลดลงจนเห็นได้ชัดจากงานวิจัยของมูลนิธิ ศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการรายงานสถานการณ์นกเงือกไทย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันรักนกเงือก ณ บริเวณสวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล
ผศ.ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก สันนิษฐานว่า สถานการณ์นี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปีที่แห้งแล้งได้ส่งผลให้เมล็ดไม้หรือผลไม้ในป่าอาหารของนกเงือกลดน้อยลง ทั้งตาเสือ ยางโอน และไทร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการขยายพันธุ์นกเงือก หากสภาพแวดล้อมไม่พร้อม อาหารไม่พร้อม นกเงือกตัวเมียจะไม่เข้าทำรัง ซึ่งฤดูผสมพันธุ์ของนกเงือกเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนของแต่ละปี หรืออาจเกิดปัจจัยวัฏจักรธรรมชาติจะมีปีที่ผลไม้ดกและปีที่ไม่ออกดอกออกผล แม้งานวิจัยนี้ไม่ได้ติดตามเรื่องโลกร้อนโดยตรง แต่ที่เขาใหญ่ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เรามีพื้นที่ศึกษาการออกดอกและผลของต้นไม้ อาหารของนกเงือก จากรายงานพบสภาพอากาศแห้งแล้งลงและปริมาณฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นไม้ไม่สมบูรณ์ แม้ปีที่แล้วฝนตกหนักเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ในไทย แต่ในป่าไม่มีผล
และเมื่อมาดูสรุปงานวิจัยนั้น นกเงือกในอุทยานฯ เขาใหญ่ พบ 4 ชนิด คือ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกแก๊ก จากการวิจัยและอนุรักษ์ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวม 30 ปี พบต้นไม้ที่เป็นโพรงรังนกเงือกทั้งหมด 283 ต้น เป็นโพรงที่นกใช้ได้ 199 โพรง ประมาณ 70% มีลูกนกเงือกออกสู่ธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 1,867 ตัว เฉพาะปี 2554 ได้ลูกนกเงือก 138 ตัว ซึ่งกล่าวได้ว่าจำนวนประชากรนกเงือกอยู่ในระดับที่อุ่นใจได้
แต่หากติดตามสถานภาพนกเงือกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พบนกเงือก 6 ชนิด คือ นกกก นกเงือกคอแดง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล และนกแก๊ก พบต้นไม้ที่เป็นโพรงรังทั้งหมด 228 ต้น เป็นโพรงที่นกเงือกใช้ได้ 115 โพรงรัง มีลูกนกออกสู่ธรรมชาติ 511 ตัวแล้ว แต่ที่น่ากังวลปีที่ผ่านมา ได้ลูกนกเงือก 67 ตัว เท่านั้น จากปีปกติ 100 ตัว
"ปริมาณทำรังลดลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นกเงือกสีน้ำตาลไม่เข้าทำรังเลย จำนวนลูกนกที่น้อยลงไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าหรือถูกล่า เพราะเป็นพื้นที่ใจกลางป่าอนุรักษ์ คาดว่าเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง "      
ส่วนนกเงือกในอุทยานฯ บูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีนกเงือก 6 ชนิด คือ นกกก นกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวหงอก นกชนหิน และนกเงือกปากดำ ที่นี่ได้ทำงานวิจัยมา 18 ปีแล้ว พบต้นไม้โพรงรังนกทั้งหมด 192 ต้น และเป็นโพรงที่ใช้ได้ 120 โพรง มีลูกนกเงือกออกสู่ธรรมชาติ 536 ตัว เฉพาะปี 2554 ได้ลูกนกเงือก 16 ตัว ซึ่งในมุมมองของนักอนุรักษ์นกเงือกผู้นี้เห็นว่า เป็นจำนวนที่ไม่น้อยเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าแสนกว่าไร่
อาจารย์วิจักขณ์กล่าวอีกว่า ที่เทือกเขาบูโดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา มีโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือก เริ่มตั้งแต่ปี 2537 ตอนนี้มีชาวบ้าน 15 คน และดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 6 คน มีหน้าที่ช่วยกันเฝ้าระวังนกเงือก และช่วยนักวิจัยเก็บข้อมูลทางวิชาการ ช่วยกันซ่อมแซมโพรงรัง ติดตั้งโพรงเทียม และสำรวจกล้าไม้พืชอาหารของนกเงือกบนเทือกเขาบูโด
"รอบเทือกเขาบูโดมีชาวบ้านปลูกพืชไร่ ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ซึ่งยังมีการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรอาจส่งผลกระทบต่อผืนป่าแหล่งอาศัยของ นกเงือก ทางมูลนิธิเน้นให้ความรู้เรื่องนกเงือก เมื่อตระหนักถึงความสำคัญจะดึงชาวบ้าน อดีตพรานลักลอบขโมยลูกนกเงือก เข้ามาเป็นนักวิจัยผู้ช่วยร่วมอนุรักษ์นกด้วยกัน รวมถึงกระตุ้นจิตสำนึกทั้งเด็กผู้ใหญ่ให้รักษาทรัพยากรในท้องถิ่น อย่างน้อยชะลอให้งานอนุรักษ์สำเร็จและนกเงือกสูญพันธุ์ลดลง ขณะนี้ยังมีตลาดมืดหรือสวนสัตว์ตั้งค่าหัวลูกนกเงือกให้ชาวบ้านจับลูกนกมา ขาย" นักวิจัยผู้เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนงานช่วย ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เริ่มวิจัยนกเงือกเน้นย้ำ
ซึ่งนอกจากชุมชนรอบเทือกเขาบูโดแล้ว ยังทำโครงการเยาวชนอนุรักษ์นกเงือกและป่าถิ่นอาศัย ร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่รอบเขาใหญ่ตะวันออก บรรยายให้ความรู้ จัดค่ายเยาวชน เรียนศิลปะวาดภาพนกเงือก รวมถึงให้เด็กๆ เก็บเมล็ดผลไม้อาหารนกและต้นไม้ที่เป็นโพรงรังมาเพาะกล้า แล้วนำกลับไปปลูกในพื้นที่ กลายเป็นแนวร่วมคนรุ่นใหม่สืบทอดงานอนุรักษ์ แล้วยังมีโครงการอุปการะนกเงือกให้คนเมืองที่อยู่ห่างไกลจากป่าที่ต้องการ อนุรักษ์นกเงือกสมทบทุนร่วมสนับสนุนชาวบ้านบูโดที่ดูแลนกเงือก
นิมุ รายอคารี ชาวบ้านบูโดวัย 66 ปี จากหมู่บ้านตะโละตา อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในฐานะผู้นำชุมชนอนุรักษ์นกเงือก และอดีตพรานจับลูกนกไปขาย ซึ่งเดินทางไกลจากทางใต้มาร่วมในงานวันรักนกเงือก บอกว่า เคยจับลูกนกจากรังไปขาย เป็นรายได้เสริม สมัยนั้นตัวละ 500-1,500 บาท นกเงือกหัวแรดราคาดีที่สุด แต่เมื่อมีโครงการวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกเข้ามา แรกๆ ไม่เชื่อ เพราะไม่รู้ว่านกเงือกสำคัญยังไง หลังจากนั้น ได้ความรู้ และอาจารย์พิไลชวนให้มาช่วยเก็บข้อมูล ตนก็ชวนชาวบ้านอีก 9 หมู่บ้าน เข้ามาร่วมกัน มีลูกนกออกสู่ธรรมชาติมากกว่า 20 ตัวแล้ว ที่นี่ประกาศห้ามจับลูกนก คอยระวังในพื้นที่ ตั้งใจอนุรักษ์นกเงือกให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
ในงานวิจัยอนุรักษ์นกเงือกไทยนี้รวมถึงการติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุติดตาม ตัวสัตว์ผ่านดาวเทียม หรือ PTTs ที่ทำให้ติดตามพื้นที่หากินของนกเงือกได้กว้างไกลมากขึ้น อ.วิจักขณ์ ระบุว่า นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่และกินผลไม้ป่าเป็นหลัก การติด PTTs ทำให้รู้พื้นที่สำคัญที่นกเงือกใช้ ทั้งแหล่งอาหารและแหล่งที่นอน จากการศึกษาในพื้นที่มรดกโลกทั้ง 2 แห่ง พบว่า นกเงือกคอแดง ป่าห้วยขาแข้ง มีขนาดพื้นที่อาศัยตลอดปี 349 ตารางกิโลเมตร สื่อถึงพฤติกรรมหากินเคลื่อนที่ตลอด ส่วนเขาใหญ่ก็ได้ข้อมูลใหม่ นกเงือกกรามช้าง พื้นที่หากินกว้างไกลถึง 883 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมไปถึงอุทยานฯ ทับลาน ขณะที่นกกกมีพื้นที่อาศัย 184- 619 ตารางกิโลเมตร นกเงือกทั้งสองชนิดอาศัยอยู่ที่ความสูง 20-1,340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมป่าดิบชื้น ดิบแล้ง ดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเบญจพรรณผสมต้นลาน ป่าไผ่ ทุ่งหญ้า และพื้นที่เกษตรกรรม
ในงานวันรักนกเงือกที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสนับสนุนทุนวิจัย 15,628,000 บาท ให้โครงการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกในผืนป่ามรดกโลก (ระยะที่ 3) โดยมี ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นผู้รับมอบทุน
การติดตามนกเงือกกรามช้างปากเรียบในผืนป่าห้วยขาแข้ง คือ งานวิจัยเร่งด่วนในเฟส 3 นี้ ซึ่งเลขาธิการมูลนิธิคนเดิมกล่าวว่า นอกฤดูผสมพันธุ์ของนกจะหายไปเลย และกลับมาในผืนป่าอีกครั้งเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งการสำรวจและติดตามระยะแรกทำไม่ได้ เพราะอุปกรณ์ไม่มีประสิทธิภาพพอ ตัวนกห่างไป 5-10 กิโลเมตร เครื่องก็รับสัญญาณไม่ได้ ตอนนี้เราวางแผนติดเครื่องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม นกเงือกกรามช้างปากเรียบ 8 ตัว ในแผนรวมถึงนกกกด้วย เพราะมีประชากรมาก อยากทราบพื้นที่หากินไปมาหาสู่ และวิเคราะห์เรื่องพันธุกรรม ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อตัว อายุการใช้งาน 3 ปี
"การอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ถิ่นอาศัยนกเงือกก็อยู่ในแผนงานด้วย คนเมืองที่อยากเห็นนกเงือกบินเป็นฝูงที่นี่มองเห็นได้ชัด แต่ถ้าลึกไปในหุบเขา ซึ่งเป็นแหล่งที่นอน มีนกเงือกหกเจ็ดร้อยตัวพร้อมใจบินเป็นฝูงบนท้องฟ้า" นักอนุรักษ์ให้ภาพสัตว์และธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์
อีกงานอนุรักษ์ในภาคสนามที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังธรรมชาติ ซึ่งเป็นการจัดการประชากรนกเงือกไม่ให้สูญพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ ระบุว่า ทุกพื้นที่ทำงานอนุรักษ์นกเงือกจะสำรวจโพรงรัง หากพบพื้นโพรงทรุดช่วยกันซ่อม โดย 1 โพรงรัง มีอายุใช้งาน 3-8 ปี ซึ่งพบว่าโพรงเสียทุกปี รวมถึงโพรงรังของสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ปรับปรุงทำปากโพรงสำหรับนกเงือก สำหรับการจัดสร้างโพรงเทียมเหมาะกับพื้นที่ที่ขาดแคลนโพรงรังธรรมชาติและ ต้นไม้ใหญ่ อย่างบูโดก็ได้ใช้โพรงเทียมช่วยนกกกหลายครอบครัวเป็นบ้าน
"แต่ผลการติดตั้งโพรงเทียม 18 โพรง ที่บูโด แม้มีนกเงือกเข้าใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังมีข้อจำกัด โพรงเทียมสร้างขึ้นจากไฟเบอร์กลาส ใช้ฉนวนกันความร้อน นกกกหลายครอบครัวเข้าใช้ อาจเพราะนกชนิดนี้ปรับตัวได้ดี แต่นกเงือกหัวแรดเข้าวางไข่ แล้วทิ้งรัง พบไข่ไม่ฟัก ก็ต้องหาสาเหตุ แต่ผลการศึกษาพบว่าโพรงธรรมชาติอุณหภูมิสม่ำเสมอ และควบคุมความชื้นได้ดีกว่า ส่วนโพรงเทียมกลางวันความชื้นต่ำ อุณหภูมิสูง กลางคืนชื้นมาก อุณหภูมิเย็น ไม่คงที่ เป็นงานวิจัยที่ต้องศึกษา และต้องการพลังคนรุ่นใหม่มาสานงานและเจตนารมณ์นี้ ตอนนี้ขาดแคลนนักวิจัยเกี่ยวกับนกเงือก" เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ฝากทิ้งท้าย สะท้อนถึงความจำเป็นในการรักษาป่าไม้และต้นไม้ ถิ่นที่อยู่นก เพราะถึงอย่างไร โพรงไม้ธรรมชาติยังเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกที่สุดนั่น เอง

ที่มา http://www.iceh.or.th/index.php/activity/60-press-news/110-nok.html

สารานุกรมสิ่งแวดล้อม นกเงือก



ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=r9BmgtaWd0M

โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก


ความสำคัญและความน่าสนใจของนกเงือก

นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณ ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปี จัดอยู่ในวงศ์ Bucerotidae มีอยู่ด้วยกัน 52 ชนิดในโลก ซึ่งไม่นับรวม Ground Hornbill 2 ชนิดของแอฟริกา พบได้ในป่า และทุ่งหญ้าเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น

ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่ นกกก (Great Hornbill) นกเงือก กรามช้าง (Wreathed Hornbilll) นก แก๊ก (Oriental Pied Hornbill) นกเงือก สีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill) นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) นกชนหิน (Helmeted Hornbill) นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) นกเงือกปากดำ (Black Hornbill) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) และนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จึงถูกจัดให้เป็น Flagship species Keystone species และ Umbrella species ของป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกเงือกมีบทบาทเด่นในระบบนิเวศป่าและหลายชนิดอยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ นกเงือกเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ (Seed disperser) ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 ซม ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู เป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจัดนกเงือกเป็น Indicator species ของป่าแต่ละแบบได้อีกด้วย หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป จากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก

ลักษณะเด่นของนกเงือก
                                                                   
นกเงือกมีลักษณะที่สำคัญ คือ มีปากขนาดใหญ่โค้ง มี โหนก (Casque) ประดับเหนือปาก ยกเว้นนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) ที่ไม่มีโหนก ลักษณะของโหนกเป็น โพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอยู่ภายใน แต่โหนกของนกชนหิน (Helmeted Hornbill) นั้นกว่าครึ่งความยาวของโหนกตันดุจ เดียวกับงาช้าง โหนกของนกเงือกมีขนาดและรูปร่างหลากหลาย บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบน กว้าง ดัง โหนกของนกกก บ้างก็มีรูป ทรงกระบอก ทอดนอนตามความยาวของจงอยปาก มีปลายงอนดู คล้ายกับนอของแรด ดังโหนกของนกเงือกหัวแรด อันเป็นที่มาของชื่อ Hornbill บางชนิดมีโหนกขนาดเล็ก เป็นลอนดูคล้ายฟันกราม ของช้าง เช่น โหนกของนกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill) นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ เช่น นกกก นกเงือกกรามช้าง เพราะด้านใต้ปีกของนกเงือกไม่มีขนปกคลุม (Under wing coverts) เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งอากาศจะผ่านช่องว่างโคนขนปีกจึงเกิดเสียงดัง

การทำรัง

นกเงือกจับคู่แบบ ผัวเดียวเมียเดียว ฤดูทำรังของนกเงือก เริ่มต้นช่วงฤดูแล้ง ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ระยะนี้นกเงือก จะแยก จากฝูง มาหากินบริเวณโพรงรังเก่าเพื่อปกป้องรังและพื้นที่ทำรัง รังของนกเงือก คือ โพรงไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยในต้นไม้วงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) มากที่สุด ขนาดของ ต้นไม้ที่มีโพรงใหญ่พอที่นก เงือกจะทำรังได้นั้นมีเส้นรอบวงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ในเมื่อนกเงือกไม่ สามารถเจาะโพรงรังเองได้เหมือนนกหัวขวาน จึงต้องหาโพรงไม้ใน ธรรมชาติที่เหมาะสมแคบๆ เพียงพอที่นกเงือกตัวผู้จะส่งอาหารให้แก่นกเงือกตัวเมียซึ่งจะออกไข่ กกไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้ จึงกะเทาะวัสดุที่ปิดปากโพรงออกมา

นกเงือกเป็นนกที่สะอาด ทั้งแม่และลูกนกจะถ่ายมูลผ่านปากโพรง เมื่อพ่อนกป้อนอาหารเสร็จในแต่ละครั้งก็จะดูแลทำความสะอาดบริเวณปากโพรง ส่วนอาหารที่เป็นผลไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ นกเงือกจะสำรอกทิ้งออกมาภายนอกโพรง ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของนกเงือกคือ สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก อาทิเช่น หมาไม้ ซึ่งจะสามารถไต่ขึ้นไปถึงรังนกเงือกได้

การรวมฝูง

เมื่อฤดูทำรังสิ้นสุดลงและลูกนกเงือกบินได้เก่งแล้ว ในช่วงฤดูฝน นกเงือกมักจะพากันมารวมฝูงกันหากินรวมกลุ่มขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างแล้วแต่ชนิดของนกเงือก และรวมฝูงนอนตามหุบเขาลึก อีกทั้งนกรุ่นลูกมีโอกาสจับคู่กับนกเงือกที่มาจากแหล่งอื่น ช่วยให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้น

ภาระของนกเงือกต่อสังคมป่า

ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตดังกล่าวมาแล้ว และความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น ถ้าป่าไหนมีนกเงือกอยู่ถึง 500 ตัว ป่าเหล่านั้นจะไม่เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

ที่มา http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/research/thai_hornbill.htm

นกเงือก



ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=LD7jtCbTNfw&feature=fvwrel

โพรงเทียมนกเงือกต้นแบบงานดีไซน์เพื่อการอนุรักษ์





การออกแบบและจัดสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก โดย อาจารย์ชาคร ผาสุวรรณ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) กรุงเทพฯ คือ งานวิจัยเชิงประยุกต์ที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบโพรงเทียม ขั้นตอน และวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่


อาจารย์ชาครบอกว่า 9 ปีที่แล้ว โพรงเทียมนกเงือกติดตั้งที่อุทยานฯ บูโด จำนวน 20 โพรงเทียม ในปัจจุบันพบว่านกเงือกเข้ามาดู 15 โพรงรัง มีนกกก และนกเงือกหัวแรดใช้ทำรัง 6 โพรงเทียม นกกกประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์เพียง 5 โพรงเทียม และได้ลูกนกกกจากโพรงเทียม 16 ตัว


"เพราะต้นไม้ใหญ่โดนตัด นกเงือกจึงไร้โพรงรัง เราจึงออกแบบสร้างโพรงเทียมขึ้นมาทดแทน ซึ่งนกมีแนวโน้มมาใช้โพรงเทียมมากขึ้น แต่โครงการนี้ต้องทำงานระยะยาวต่อเนื่องจึงจะสรุปผลวิจัยได้ชัด อาจต้องใช้เวลาชั่วทั้งชีวิตของนักวิจัยเลยก็ได้ ปลื้มใจที่ได้นำความรู้ในตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ช่วยเหลือนกหลายครอบครัวที่ใช้โพรงเทียมของผมเป็นบ้าน ทุกครั้งที่ส่องกล้องเข้าในโพรง ได้สบตากับนกเงือก รู้สึกเหมือนนกกำลังบอกขอบคุณ" นักออกแบบหัวใจอนุรักษ์เผยความรู้สึกจากใจ


สำหรับโพรงเทียมในการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบที่ต้องพัฒนาต่อไป สร้างขึ้นจากไฟเบอร์กลาส โดยใช้ฉนวนกันความร้อนโพลียูรีเทนโฟม ปากโพรงทำจากไม้จริงเพื่อลดน้ำหนัก โพรงเทียม 1 โพรงมีส่วนประกอบ 6 ชิ้น แต่ละชิ้นสามารถขนส่งในป่า โดยการแบกสะพายหลัง น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม การติดตั้งโพรงเทียมที่เหมาะสมที่สุด ทำโดยแขวนกับกิ่งไม้ใหญ่ หรือใต้ง่ามไม้ และรัดแนบกับลำต้นด้วยลวดสลิง ปัจจุบันมีโพรงเทียมจำนวน 18 โพรง ถูกติดตั้งที่อุทยานฯ บูโด.

ที่มา http://www.ryt9.com/s/tpd/1347262

รู้จัก "นกเงือก"

        นกเงือกสัญลักษณ์รักเดียวใจเดียว สะท้อนความรักของคนในปัจจุบันที่มักเปลี่ยนคู่บ่อยจนมีวลีเด็ด "หล่อเลือกได้" หรือ "สวยเลือกได้"




            ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว  นกเงือกจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง
            นกเงือกมีบทบาทเด่นในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงสามารถนำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ และเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าได้ทั่วป่า นกเงือกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่พันธุ์ของพืช ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่า และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นสัตว์รักเดียวใจเดียว เนื่องจากพฤติกรรมของนกเงือกจะใช้ชีวิตคู่แบบ "ผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย นกเงือกจึงได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของ "รักแท้"
            รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามทำให้นกเงือกถูกรุกรานโดยมนุษย์ผู้ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตและ ความรักของผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ทำให้เผ่าพันธุ์ของนกเงือกต้องตกอยู่ในภาวะอันตรายและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งจากการถูกล่าโดยตรง และจากการลดจำนวนของผืนป่าและไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนกเงือก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ก.พ. ของทุกปีเป็น "วันรักนกเงือก" โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเพื่อให้คนไทยเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นก เงือกให้คงอยู่คู่กับป่าที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนสำหรับการศึกษาวิจัยและ อนุรักษ์นกเงือกในประเทศไทย      

ที่มา   http://share.psu.ac.th/blog/earth-toy/23027