วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สภาพอากาศแปรปรวนภัยคุกคามนกเงือกไทย


สภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติเกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกนกเงือกลืมตาขึ้นมาดูโลกลดลงจนเห็นได้ชัดจากงานวิจัยของมูลนิธิ ศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการรายงานสถานการณ์นกเงือกไทย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันรักนกเงือก ณ บริเวณสวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล
ผศ.ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก สันนิษฐานว่า สถานการณ์นี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปีที่แห้งแล้งได้ส่งผลให้เมล็ดไม้หรือผลไม้ในป่าอาหารของนกเงือกลดน้อยลง ทั้งตาเสือ ยางโอน และไทร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการขยายพันธุ์นกเงือก หากสภาพแวดล้อมไม่พร้อม อาหารไม่พร้อม นกเงือกตัวเมียจะไม่เข้าทำรัง ซึ่งฤดูผสมพันธุ์ของนกเงือกเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนของแต่ละปี หรืออาจเกิดปัจจัยวัฏจักรธรรมชาติจะมีปีที่ผลไม้ดกและปีที่ไม่ออกดอกออกผล แม้งานวิจัยนี้ไม่ได้ติดตามเรื่องโลกร้อนโดยตรง แต่ที่เขาใหญ่ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เรามีพื้นที่ศึกษาการออกดอกและผลของต้นไม้ อาหารของนกเงือก จากรายงานพบสภาพอากาศแห้งแล้งลงและปริมาณฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นไม้ไม่สมบูรณ์ แม้ปีที่แล้วฝนตกหนักเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ในไทย แต่ในป่าไม่มีผล
และเมื่อมาดูสรุปงานวิจัยนั้น นกเงือกในอุทยานฯ เขาใหญ่ พบ 4 ชนิด คือ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกแก๊ก จากการวิจัยและอนุรักษ์ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวม 30 ปี พบต้นไม้ที่เป็นโพรงรังนกเงือกทั้งหมด 283 ต้น เป็นโพรงที่นกใช้ได้ 199 โพรง ประมาณ 70% มีลูกนกเงือกออกสู่ธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 1,867 ตัว เฉพาะปี 2554 ได้ลูกนกเงือก 138 ตัว ซึ่งกล่าวได้ว่าจำนวนประชากรนกเงือกอยู่ในระดับที่อุ่นใจได้
แต่หากติดตามสถานภาพนกเงือกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พบนกเงือก 6 ชนิด คือ นกกก นกเงือกคอแดง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล และนกแก๊ก พบต้นไม้ที่เป็นโพรงรังทั้งหมด 228 ต้น เป็นโพรงที่นกเงือกใช้ได้ 115 โพรงรัง มีลูกนกออกสู่ธรรมชาติ 511 ตัวแล้ว แต่ที่น่ากังวลปีที่ผ่านมา ได้ลูกนกเงือก 67 ตัว เท่านั้น จากปีปกติ 100 ตัว
"ปริมาณทำรังลดลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นกเงือกสีน้ำตาลไม่เข้าทำรังเลย จำนวนลูกนกที่น้อยลงไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าหรือถูกล่า เพราะเป็นพื้นที่ใจกลางป่าอนุรักษ์ คาดว่าเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง "      
ส่วนนกเงือกในอุทยานฯ บูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีนกเงือก 6 ชนิด คือ นกกก นกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวหงอก นกชนหิน และนกเงือกปากดำ ที่นี่ได้ทำงานวิจัยมา 18 ปีแล้ว พบต้นไม้โพรงรังนกทั้งหมด 192 ต้น และเป็นโพรงที่ใช้ได้ 120 โพรง มีลูกนกเงือกออกสู่ธรรมชาติ 536 ตัว เฉพาะปี 2554 ได้ลูกนกเงือก 16 ตัว ซึ่งในมุมมองของนักอนุรักษ์นกเงือกผู้นี้เห็นว่า เป็นจำนวนที่ไม่น้อยเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าแสนกว่าไร่
อาจารย์วิจักขณ์กล่าวอีกว่า ที่เทือกเขาบูโดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา มีโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือก เริ่มตั้งแต่ปี 2537 ตอนนี้มีชาวบ้าน 15 คน และดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 6 คน มีหน้าที่ช่วยกันเฝ้าระวังนกเงือก และช่วยนักวิจัยเก็บข้อมูลทางวิชาการ ช่วยกันซ่อมแซมโพรงรัง ติดตั้งโพรงเทียม และสำรวจกล้าไม้พืชอาหารของนกเงือกบนเทือกเขาบูโด
"รอบเทือกเขาบูโดมีชาวบ้านปลูกพืชไร่ ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ซึ่งยังมีการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรอาจส่งผลกระทบต่อผืนป่าแหล่งอาศัยของ นกเงือก ทางมูลนิธิเน้นให้ความรู้เรื่องนกเงือก เมื่อตระหนักถึงความสำคัญจะดึงชาวบ้าน อดีตพรานลักลอบขโมยลูกนกเงือก เข้ามาเป็นนักวิจัยผู้ช่วยร่วมอนุรักษ์นกด้วยกัน รวมถึงกระตุ้นจิตสำนึกทั้งเด็กผู้ใหญ่ให้รักษาทรัพยากรในท้องถิ่น อย่างน้อยชะลอให้งานอนุรักษ์สำเร็จและนกเงือกสูญพันธุ์ลดลง ขณะนี้ยังมีตลาดมืดหรือสวนสัตว์ตั้งค่าหัวลูกนกเงือกให้ชาวบ้านจับลูกนกมา ขาย" นักวิจัยผู้เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนงานช่วย ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เริ่มวิจัยนกเงือกเน้นย้ำ
ซึ่งนอกจากชุมชนรอบเทือกเขาบูโดแล้ว ยังทำโครงการเยาวชนอนุรักษ์นกเงือกและป่าถิ่นอาศัย ร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่รอบเขาใหญ่ตะวันออก บรรยายให้ความรู้ จัดค่ายเยาวชน เรียนศิลปะวาดภาพนกเงือก รวมถึงให้เด็กๆ เก็บเมล็ดผลไม้อาหารนกและต้นไม้ที่เป็นโพรงรังมาเพาะกล้า แล้วนำกลับไปปลูกในพื้นที่ กลายเป็นแนวร่วมคนรุ่นใหม่สืบทอดงานอนุรักษ์ แล้วยังมีโครงการอุปการะนกเงือกให้คนเมืองที่อยู่ห่างไกลจากป่าที่ต้องการ อนุรักษ์นกเงือกสมทบทุนร่วมสนับสนุนชาวบ้านบูโดที่ดูแลนกเงือก
นิมุ รายอคารี ชาวบ้านบูโดวัย 66 ปี จากหมู่บ้านตะโละตา อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในฐานะผู้นำชุมชนอนุรักษ์นกเงือก และอดีตพรานจับลูกนกไปขาย ซึ่งเดินทางไกลจากทางใต้มาร่วมในงานวันรักนกเงือก บอกว่า เคยจับลูกนกจากรังไปขาย เป็นรายได้เสริม สมัยนั้นตัวละ 500-1,500 บาท นกเงือกหัวแรดราคาดีที่สุด แต่เมื่อมีโครงการวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกเข้ามา แรกๆ ไม่เชื่อ เพราะไม่รู้ว่านกเงือกสำคัญยังไง หลังจากนั้น ได้ความรู้ และอาจารย์พิไลชวนให้มาช่วยเก็บข้อมูล ตนก็ชวนชาวบ้านอีก 9 หมู่บ้าน เข้ามาร่วมกัน มีลูกนกออกสู่ธรรมชาติมากกว่า 20 ตัวแล้ว ที่นี่ประกาศห้ามจับลูกนก คอยระวังในพื้นที่ ตั้งใจอนุรักษ์นกเงือกให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
ในงานวิจัยอนุรักษ์นกเงือกไทยนี้รวมถึงการติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุติดตาม ตัวสัตว์ผ่านดาวเทียม หรือ PTTs ที่ทำให้ติดตามพื้นที่หากินของนกเงือกได้กว้างไกลมากขึ้น อ.วิจักขณ์ ระบุว่า นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่และกินผลไม้ป่าเป็นหลัก การติด PTTs ทำให้รู้พื้นที่สำคัญที่นกเงือกใช้ ทั้งแหล่งอาหารและแหล่งที่นอน จากการศึกษาในพื้นที่มรดกโลกทั้ง 2 แห่ง พบว่า นกเงือกคอแดง ป่าห้วยขาแข้ง มีขนาดพื้นที่อาศัยตลอดปี 349 ตารางกิโลเมตร สื่อถึงพฤติกรรมหากินเคลื่อนที่ตลอด ส่วนเขาใหญ่ก็ได้ข้อมูลใหม่ นกเงือกกรามช้าง พื้นที่หากินกว้างไกลถึง 883 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมไปถึงอุทยานฯ ทับลาน ขณะที่นกกกมีพื้นที่อาศัย 184- 619 ตารางกิโลเมตร นกเงือกทั้งสองชนิดอาศัยอยู่ที่ความสูง 20-1,340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมป่าดิบชื้น ดิบแล้ง ดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเบญจพรรณผสมต้นลาน ป่าไผ่ ทุ่งหญ้า และพื้นที่เกษตรกรรม
ในงานวันรักนกเงือกที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสนับสนุนทุนวิจัย 15,628,000 บาท ให้โครงการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกในผืนป่ามรดกโลก (ระยะที่ 3) โดยมี ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นผู้รับมอบทุน
การติดตามนกเงือกกรามช้างปากเรียบในผืนป่าห้วยขาแข้ง คือ งานวิจัยเร่งด่วนในเฟส 3 นี้ ซึ่งเลขาธิการมูลนิธิคนเดิมกล่าวว่า นอกฤดูผสมพันธุ์ของนกจะหายไปเลย และกลับมาในผืนป่าอีกครั้งเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งการสำรวจและติดตามระยะแรกทำไม่ได้ เพราะอุปกรณ์ไม่มีประสิทธิภาพพอ ตัวนกห่างไป 5-10 กิโลเมตร เครื่องก็รับสัญญาณไม่ได้ ตอนนี้เราวางแผนติดเครื่องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม นกเงือกกรามช้างปากเรียบ 8 ตัว ในแผนรวมถึงนกกกด้วย เพราะมีประชากรมาก อยากทราบพื้นที่หากินไปมาหาสู่ และวิเคราะห์เรื่องพันธุกรรม ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อตัว อายุการใช้งาน 3 ปี
"การอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ถิ่นอาศัยนกเงือกก็อยู่ในแผนงานด้วย คนเมืองที่อยากเห็นนกเงือกบินเป็นฝูงที่นี่มองเห็นได้ชัด แต่ถ้าลึกไปในหุบเขา ซึ่งเป็นแหล่งที่นอน มีนกเงือกหกเจ็ดร้อยตัวพร้อมใจบินเป็นฝูงบนท้องฟ้า" นักอนุรักษ์ให้ภาพสัตว์และธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์
อีกงานอนุรักษ์ในภาคสนามที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังธรรมชาติ ซึ่งเป็นการจัดการประชากรนกเงือกไม่ให้สูญพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ ระบุว่า ทุกพื้นที่ทำงานอนุรักษ์นกเงือกจะสำรวจโพรงรัง หากพบพื้นโพรงทรุดช่วยกันซ่อม โดย 1 โพรงรัง มีอายุใช้งาน 3-8 ปี ซึ่งพบว่าโพรงเสียทุกปี รวมถึงโพรงรังของสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ปรับปรุงทำปากโพรงสำหรับนกเงือก สำหรับการจัดสร้างโพรงเทียมเหมาะกับพื้นที่ที่ขาดแคลนโพรงรังธรรมชาติและ ต้นไม้ใหญ่ อย่างบูโดก็ได้ใช้โพรงเทียมช่วยนกกกหลายครอบครัวเป็นบ้าน
"แต่ผลการติดตั้งโพรงเทียม 18 โพรง ที่บูโด แม้มีนกเงือกเข้าใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังมีข้อจำกัด โพรงเทียมสร้างขึ้นจากไฟเบอร์กลาส ใช้ฉนวนกันความร้อน นกกกหลายครอบครัวเข้าใช้ อาจเพราะนกชนิดนี้ปรับตัวได้ดี แต่นกเงือกหัวแรดเข้าวางไข่ แล้วทิ้งรัง พบไข่ไม่ฟัก ก็ต้องหาสาเหตุ แต่ผลการศึกษาพบว่าโพรงธรรมชาติอุณหภูมิสม่ำเสมอ และควบคุมความชื้นได้ดีกว่า ส่วนโพรงเทียมกลางวันความชื้นต่ำ อุณหภูมิสูง กลางคืนชื้นมาก อุณหภูมิเย็น ไม่คงที่ เป็นงานวิจัยที่ต้องศึกษา และต้องการพลังคนรุ่นใหม่มาสานงานและเจตนารมณ์นี้ ตอนนี้ขาดแคลนนักวิจัยเกี่ยวกับนกเงือก" เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ฝากทิ้งท้าย สะท้อนถึงความจำเป็นในการรักษาป่าไม้และต้นไม้ ถิ่นที่อยู่นก เพราะถึงอย่างไร โพรงไม้ธรรมชาติยังเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกที่สุดนั่น เอง

ที่มา http://www.iceh.or.th/index.php/activity/60-press-news/110-nok.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น