วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ความรักของนกเงือก รักแท้ในป่าทึบ


   
      ช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก หนุ่มสาวต่างตื่นเต้นที่จะหาของขวัญของชำร่วย ดอกไม้หลากหลายรูปแบบมอบให้กับคนที่รัก เพื่อเป็นการแสดงถึงความรักความรู้สึกที่มีให้อีกฝ่าย หลายคนถือเอาวันนี้เป็นวันพิเศษที่จะแสดงความรักความห่วงใยมากกว่าปกติที่เป็นอยู่ แต่ใครจะล่วงรู้ได้ว่าความรักนั้นจะยืนยาวไปได้ยาวนานหรือเพียงแค่ชั่วข้ามคืน

ในโลกของธรรมชาติ รักแท้ไม่ต้องรอวันพิเศษ หรือเทศกาลที่เกิดขึ้นปีละครั้ง แต่การแสดงความรักเกิดขึ้นได้ทุกวันทุกเวลา ต่างกันก็เพียงวิธีการของแต่ละสายพันธุ์

นกเงือก นับว่าเป็นนกที่ได้รับขนานนามถึงความรักที่มันมีต่อคู่ของมัน เนื่องจากนกเงือกจะจับคู่แบบผัวเดียว – เมียเดียว โดยนกตัวผู้จะเป็นผู้บินไปหานกตัวเมียที่ถูกใจ และเข้าไปเกี๊ยวพาราสีด้วยการนำอาหารหลากหลายชนิดมาให้กับตัวเมีย เพื่อหวังให้สาวเจ้าถูกใจกับอาหารต่างๆ ที่นำมาให้ จนเมื่อนกตัวเมียยอมรับอาหารจึงเป็นการแสดงได้ว่าตัวเมียนั้นได้ยอมตกลงปลงใจเรียบร้อย

แต่ความรักไม่ได้สร้างกันง่ายๆ นกเงือกทั้งคู่จะต้องเลือกสถานที่ทำรังที่เหมาะสม ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่หาโพรงที่สัตว์ต่างๆ ได้ทำทิ้งไว้ หรือที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามต้นไม้สูง เมื่อตัวเมียพอใจกับรังตัวผู้นำเสนอตัวเมียจึงยอมให้ผสมพันธุ์ แล้วนกทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาสร้างรังเพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก แล้วหลังจากนั้นก็จะหาเศษดินมาปิดปากรังเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่างๆ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้กับแม่ลูก

แม่นกเงือกจะคอยกกไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกที่ฟักมาอยู่ภายในรังโดยไม่ได้ออกไปไหน ตัวผู้จึงมีหน้าที่ในการออกหาอาการเพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตทั้งลูกน้อยและคู่รัก จนกว่าลูกนกจะโตพอบินได้จึงกะเทาะปากโพรงที่สร้างด้วยเศษดินนั้นออกมา  ความรักของนกเงือกจึงเปรียบเสมือนรักแท้ในป่าทึบ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่นกตัวผู้เกิดไม่ออกหาอาหาร หรือตายไป คู่รักของมันที่รออยู่ที่โพรงก็จะยังคงรออยู่อย่างนั้น ไม่มีวันออกไปไหน รอจนหมดเรี่ยวแรงและตายลงไป พร้อมกับลูกนกเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับโลกภายนอก

นอกจากความรัก และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของนกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ เพราะมันจำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น

ดังนั้นความรักของนกเงือก จึงไม่ใช่เพียงเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้กับสายพันธุ์ของมันเองเท่านั้น มันกลับเผื่อแผ่ความรักของมันให้กับป่า ให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ได้รับประโยชน์จากความรักนั้นในทางอ้อมจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ


ที่มา: http://www.seub.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น