นกเงือก หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Hornbill เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ Bucerotidae ทั่วโลกพบทั้งหมดมี 52 ชนิด มีการแพร่กระจายและพบอยู่ในป่าเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชียเท่านั้น ในประเทศไทยมีการค้นพบทั้งหมด 13 ชนิด ในส่วนเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และบริเวณกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบ 4 ชนิด ได้แก่
- นกกก (นกกาฮัง)
- นกเงือกกรามช้าง
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และ
- นกแก๊ก (นกแกง)
นกเงือก 4 ชนิดในเขาใหญ่ ได้แก่ นกกก นกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว ตามลำดับ
นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ถึงใหญ่มาก ส่วนปากบนมี “โหนก” ประดับอยู่ สีขนของนกมักมีสี ดำ – ขาว ขอบตามีขนตายาวงาม เสียงร้องดัง ลักษณะเด่นที่สำคัญทางพฤติกรรมคือ นกเงือกตัวเมียจะทำรังภายในโพรงไม้ที่มันไม่สามารถเจาะเองได้ ไม่เพียงแต่เข้าไปอยู่อาศัยในโพรงไม้เท่านั้น เมื่อถึงช่วงออกไข่ ทำรัง นกเงือกยังจะปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องกว้างเพียงแค่ให้ปากนกเงือกโผล่ออกมาได้เท่านั้น เพื่อรับอาหารจากนกเงือกตัวผู้ที่ไปหาอาหารมา นกเงือกกินผลไม้เป็นอาหารหลัง แต่ก็กินสัตว์เล็กเป็นอาหารด้วย เช่น งู และกิ้งก่า
นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยผัวเดียวเมียเดียว และมีพฤติกรรมน่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่และผลัดขนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่ และลูกนกที่เกิดมา ส่วนตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ถึงรัง ดังนั้นถ้าหากนกเงือกตัวผู้เสียชีวิต เนื่องจากการล่า หรือด้วยกลไกลอื่นในช่วงฤดูทำรัง นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียนกเงือกแม่ลูก ที่เฝ้ารอการกลับมาของนกเงือกตัวผู้ไปด้วย เนื่องจากตัวเมียผลัดขนไม่สามารถออกจากรังได้ ทำให้ค่อย ๆ อดอาหารตายอย่างช้า ๆ ทั้งแม่และลูก ซึ่งนิยายความรักนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์
บทบาทหลักของนกเงือกในระบบนิเวศป่าช่วยกระจายพันธุ์ไม้ป่า ทำหน้าที่เป็นกลไกลหลักของการกระจายเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ใหญ่ที่เป็นอาหารของนก และช่วยควบคุมประชากรของสัตว์เล็ก เช่น แมลง และหนูอันอาจเป็นผู้ทำลายเมล็ดซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญในการรักษาโครงสร้างและความสมบูรณ์ของป่า การอนุรักษ์นกเงือกก่อให้เกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพิทักษ์รักษาคุณภาพระบบนิเวศป่าไม้ เพราะนกเงือกมีอิทธิพลต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าเดียวกัน จากบทบาทสำคัญในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ นกเงือกจะช่วยฟื้นฟูสภาพธรรมชาติในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมา นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นสัตว์ผู้ล่าซึ่งเป็นการควบคุมประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมดุลแก่ระบบนิเวศวิทยาป่า
ที่มา http://www.khaoyaizone.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น